ประธานครั้งแรก — Hello World: Fennec

Hello World Fennec Banner

จากที่ผมเคยบอกไว้ในบทความ How to IT#29 Starter Pack ว่านั่นคือการเป็นประธานโครงการครั้งที่สองของผม คราวนี้ ผมจะมาเล่าย้อนให้ฟัง ถึงตอนได้เป็นประธานครั้งแรก ตอน Hello World: Fennec ว่าเริ่มได้ยังไง และผ่านอะไรมาบ้าง

ก่อนอื่น บทความนี้ ผมเขียนตอนที่โครงการนี้ ผ่านมาแล้วประมาณ 1 ปี อาจเก็บรายละเอียดได้ไม่ครบ หรือบางอย่างอาจคลาดเคลื่อนไปบ้างนะครับ

SIT Hello World

เป็นโครงการสำหรับนักศึกษา ปี 1 คณะเทคโนโลยีสารสนเทศ มหาวิทยาลัยพระจอมเกล้าธนบุรี (SIT, KMUTT) โดยทุกปี จะจัดทำโดย นักศึกษา SIT ปี 2 เป็นการสอนเนื้อหาที่อยู่นอกหลักสูตร สำหรับผู้ที่สนใจศึกษาความรู้นอกห้องเรียน และทักษะอื่นๆ เพิ่มเติม

แต่ละปี จะมีวิธีตั้งชื่อเป็นชื่อสัตว์ เรียงตามลำดับตัวอักษรภาษาอังกฤษ อย่างในปีแรก จะชื่อ Hello World: Alpaca ต่อมาคือ Beaver, Cockatiel, Dolphin, Ermine และในปีที่ผมจัด จะเป็น Fennec ตามลำดับ

โดยเนื้อหาการสอน หลักๆ ของโครงการ จะแบ่งเป็น 5 ฝ่าย ให้เลือกเข้าร่วม คือ Front-end Development, Web Design, Game Development, Game Design และ Infrastructure โดยมีเพียงผู้ที่ผ่านการคัดเลือก ที่จะสามารถเข้าร่วมโครงการได้

ซึ่งโครงการ Hello World: Fennec นี้ ถูกจัดขึ้นเมื่อ วันที่ 29 ตุลาคม — 26 พฤศจิกายน 2022 มีการเรียนสัปดาห์ละ 2 วันคือ วันพุธ ที่ อาคาร LX ชั้น 11 และวันเสาร์ เป็น online ทาง Microsoft Teams ครับ

เป็นประธานได้ไง

มาเริ่มกันจาก จุดเริ่มต้นของการเป็นประธานโครงการของผม เกิดจากว่า ในตอนแรก ประธานรุ่น IT27 จะเป็นผู้ดูแลโครงการนี้ และได้เริ่มเตรียมงาน คือ จัดประชุมหาคนที่สนใจ มาเป็นทีม staff ไว้ก่อนแล้ว (ประมาณ early access) ขณะเดียวกัน เจ้าตัวก็เป็นหนึ่งใน Core team โครงการ IT#28 Starter Pack ด้วย

ซึ่งช่วงดำเนินการ จะคาบเกี่ยวกันพอดี กับ Hello World ด้วยความที่เพื่อนต้องการโฟกัสทีละงานเพื่อให้สามารถทำได้เต็มที่ จึงส่งต่อหน้าที่ให้ผมเป็นประธานโครงการชั่วคราว คอยจัดการเรื่องรับ staff และวางแผนโครงการต่อ

เมื่อโครงการ IT#28 Starter Pack จบลง ผมก็เตรียมงานไปต่อแล้วในระดับหนึ่ง และประธานรุ่นเองก็มีกิจกรรมสายรหัสที่ต้องดูแลต่อ ..

มึงเป็นประธานไปเลย เดี๋ยวกูเป็นเลขาให้ — ประธานรุ่นกล่าวกับผม

นั่นแหละครับ โครงการนี้เลยได้ผมเป็นประธาน (🥲)

วางแผน

ตอนนั้นเรียกว่า ไม่พร้อมสุดๆ เพราะไม่เคยทำงานแบบนี้มาก่อน เป็นกิจกรรมที่มีผู้เข้าร่วมจริง และจัดในระดับคณะ ทำให้ค่อนข้างกดดัน ไม่รู้ว่าต้องเริ่มตรงไหน ตรงนี้ต้องขอบคุณพี่สุธี (ประธานโครงการ Hello World: Ermine และ IT#28 Starter Pack) ที่ให้คำแนะนำ และ resources ต่างๆ จากปีก่อนมาเป็น guide คร่าวๆ ให้ผมครับ

ส่วนตัวผม เคยเข้าร่วมในฝ่าย Front-end Development เมื่อตอนปี 1 (Hello World: Ermine) ทำให้มีประสบการณ์ และเห็นภาพรวมของโครงการนี้คร่าวๆ แต่น่าเสียดายครับที่ตอนนั้นยังเป็น online อยู่ เลยมีข้อจำกัดเยอะ

โครงการนี้จะมีรูปแบบเฉพาะอยู่อย่างนึง คือ ตอนเรียน แต่ละฝ่ายจะแยกกันเรียน แล้วช่วงท้ายโครงการจะมีโปรเจคให้ทำ แต่ละฝ่าย ต้องมาจับมือทำงานกันเป็นทีม แบ่งเป็นสองสาย คือ สายเว็บ จะมีมาจาก Front-end, Web Design และ Infrastructure ส่วนสายเกมก็มี Game Development, Game Design และ Infrastructure ตรงส่วนนี้ ตอนเป็นคนเข้าร่วม ว่า challenge แล้ว พอตอนเป็นคนจัด คูณไปอีก 10 เลยครับ

อาจารย์ที่ปรึกษา

เนื่องจากว่า ผมแทบจะไม่รู้อะไรเกี่ยวกับการจัดโครงการวิชาการแบบนี้เลย ในเวลานั้น ตอนที่เลือกอาจารย์ที่ปรึกษา Core team จึงเห็นตรงกันว่า เราจะเลือกอาจารย์คนที่เคยดูแลโครงการนี้ในปีก่อนๆ อย่างน้อยเขาเห็นโครงการนี้มามากกว่าเรา น่าจะช่วยให้คำแนะนำได้ จึงเลือก ผศ. ดร. อุมาพร สุภสิทธิเมธี (อาจารย์จิง) มาเป็นอาจารย์ที่ปรึกษาในโครงการ

ตอนนัดประชุมพูดคุยกับอาจารย์ที่ปรึกษา อาจารย์ก็ถามเช็คว่าตอนนี้เราเตรียมอะไรไปบ้างแล้ว ผมบอกไปตามที่คิดไว้คร่าวๆ คือยังมีแค่เรื่องเนื้อหา กับคิดจำนวนการรับผู้สมัครไว้

โดยอาจารย์ได้ให้คำแนะนำมาว่า ถ้าโครงการเราจะให้น้องทำโปรเจคตอนท้าย โดยนำสิ่งที่ได้เรียนมาใช้ ตอนออกแบบเนื้อหา ก็ต้องนึกถึงตอนที่น้องทำโปรเจคด้วย ว่าเราอยากให้เขาทำออกมาประมาณไหน ค่อยออกแบบเนื้อหาเอาตามนั้น

ส่วนจำนวนผู้เข้าร่วม ก็ต้องคิดจาก เราจะให้น้องมีกี่กลุ่ม กลุ่มละกี่คน และต้องสัมพันธ์กับจำนวนพี่ staff จากแต่ละวิชา ที่จะมาเป็นพี่เลี้ยงประจำกลุ่มด้วย ดังนั้นตรงนี้จึงต้องวางแผนให้ดี

เลือกวัน

ต้องเริ่มจากหาวันที่จะจัดให้ได้ ซึ่งพอเป็นช่วงเปิดเทอม ทำให้มี challenge คือ ต้องเลือกวันที่ไม่ชนกับช่วงสอบ และผู้เรียนและผู้สอน ต้องว่างตรงกัน และด้วยเป็นสเกลคณะ ที่มี 3 สาขา ทั้งวิชาและเวลาเรียนก็ยิ่งไม่ตรงกันไปอีก ตรงนี้จึงหาวันลงค่อนข้างยาก

เริ่มจาก เราต้องมีปฎิทินกิจกรรม มาใช้เช็คช่วงวันก่อน จะได้ไม่ทับวันสอบ เลยไปขอจากอาจารย์ที่ปรึกษา จึงได้เป็นตัวนี้มา

ปฎิทินการเรียนและสอบ ที่อาจารย์จิงส่งมาให้ คณะจะจัดสอบช่วงสีเขียว

ที่ไว้เล็งคร่าวๆ คือช่วงหลังสอบครั้งที่ 2 (29 ต.ค. — 4 ธ.ค.) เพราะจะได้มีเวลาเตรียมตัวกำลังดี

ส่วนวันที่จะจัด จะมีวันไหนบ้าง? โดยปกติ โครงการนี้จะเรียนสัปดาห์ละสองครั้ง ต่อเนื่อง 4 สัปดาห์ โดยถ้าอ้างอิงจากปีก่อนหน้าผม จะจัดวันเสาร์และวันจันทร์ เป็น online 100% แต่ปีผม สถานการณ์โควิดโอเคขึ้นแล้ว เลยสามารถจัด on-site ได้ แต่ประเด็นคือ ตารางเรียนของผู้เรียนกับผู้สอน ว่างตรงกันวันไหนบ้าง?

หลังจากไปเช็คมา ผลสรุปคือ มีแค่วันพุธ ช่วงหลัง 5 โมงเย็น ที่จัด on-site ได้ ส่วนอีกวันต้องจัดเป็นวันเสาร์ online

สรุปคือ ได้วันที่เป็น ตั้งแต่วันที่ 29 ตุลาคม — 26 พฤศจิกายน วันพุธและวันเสาร์

สถานที่

เราจะจัด on-site วันพุธ เวลา 17:00–20:00 น. ซึ่งจะมีห้องจากอาคาร LX ชั้น 11 ว่างให้ใช้พอดี ส่วน online วันเสาร์ จะจัดผ่าน Microsoft Teams เวลา 13:30 — 16:30 น.

วางแผน project ท้ายโครงการ

ต้องออกแบบโครงสร้างทีมของน้องๆ ก่อน โดยส่วนนี้จะอ้างอิงจากปีก่อน คือ

  1. สายเว็บ มี Front-end 3 คน, Web Design 2 คน, Infrastructure 1 คน รวม 6 คน มีทั้งหมด 6 กลุ่ม
  2. สายเกม มี Game development 3 คน, Game design 2 คน, Infrastructure 1 คน รวม 6 คน มีทั้งหมด 6 กลุ่ม

ทำให้จะได้จำนวนผู้เข้าร่วมทั้งหมด 72 คน และมีพี่วิชาการประจำกลุ่มที่มาจากแต่ละฝ่ายคอยดูแล กลุ่มละ 3 คน จึงได้จำนวนสำหรับ staff ฝ่ายวิชาการมาด้วย คือ อย่างน้อย ฝ่ายละ 6 คน (แพลนว่าจะให้พี่ๆ ฝ่าย infrastructure ดูแลน้อง คนละ 2 กลุ่ม)

ซึ่งโปรเจคนี้ วางแผนจะให้น้องๆ เริ่มทำหลังจากเรียนไปแล้วประมาณ 3 สัปดาห์ เพื่อให้มีความรู้เพียงพอ สำหรับนำไปใช้ทำโปรเจคกับเพื่อนๆ ในกลุ่ม

ต่อมาคือโจทย์สำหรับโปรเจค โดยจากการ brainstorm และคัดเลือก จาก Core team ได้ผลสรุปว่า สายเว็บจะเป็นหัวข้อ “สัตว์ในตำนาน” และสายเกมจะเป็น “ดันเจี้ยน”

เริ่มเตรียม

หลังจากเราว่างแผนคร่าวๆ ทำให้รู้แล้วว่าต้องทำอะไรบ้าง ต้องมีตำแหน่งไหนบ้าง อย่างละกี่คน ขั้นต่อมาคือการลงมือเตรียมตัว

หา Staff

ต้องเริ่มจากการหาทีม staff ก่อน ภาพด้านล่างคือโปสเตอร์ที่ใช้ในการประชาสัมพันธ์ ตอนนั้นยังไม่มี theme เป็นเรื่องเป็นราว เลยจะออกแนว Star Wars หน่อยๆ

โปสเตอร์รับสมัคร โครงการ SIT Hello World 2022

ในฟอร์มรับสมัคร จะมีคำถามคัดเลือกที่เป็นข้อเขียน ถามเกี่ยวกับการทำงานเป็นทีม โดยตอนนั้นผมคิดระบบคัดเลือกขึ้นมาใหม่ โดยให้นำข้อมูลผู้สมัครมาปิดชื่อ และข้อมูลส่วนตัว เหลือไว้แต่รหัสนักศึกษา และให้ HR แต่ละคน ให้คะแนนคำตอบแต่ละข้อ ของทุกคน และนำคะแนนรวมที่ได้จาก HR มาเฉลี่ยกัน แล้วเรียงลำดับ

จากที่บอกไว้ตอนแรก ว่ามีทีม staff ที่เป็น early access ไว้อยู่แล้ว ซึ่งที่รับจากตอนที่ประธานรุ่นยังดูแลโครงการนี้อยู่ เนื่องจากทำงานกันคนละระบบ ทำให้ตอนที่ส่งต่อหน้าที่มาที่ผม จะมีรอยต่อ คือ staff กลุ่มนั้นจะไม่ได้ผ่านการคัดเลือกจากทีม HR แต่ผมก็ไม่ได้ take action อะไร เพราะประเมินแล้วคิดว่าไม่น่ามีปัญหา ถ้าจะให้ทีม HR ไปคัดย้อนหลัง ก็น่าจะวุ่นใช่ย่อย

คนสอนไม่พอ

ปัญหาแรกที่เจอ และค่อนข้าง impact กับภาพรวม คือ คนลงสมัครสอนฝ่าย Game และ Infrastructure ขาดแคลนมาก มากนี่คือ Infrastructure มี 4 คน Game development มี 3 คน ส่วน Game design ไม่มีคนลงเลย จากเป้าที่ตั้งไว้คือ ฝ่ายละ 6 คนขึ้นไป เพราะอ้างอิงจากปีก่อนที่มีค่อนข้างเยอะ

จากการวิเคราะห์ คิดว่าที่มีคนสมัคร น่าจะเป็นเพราะคนที่เคยเป็นผู้เข้าร่วมในฝ่ายดังกล่าว ไปสมัครฝ่ายอื่นกันแล้ว ทำให้คนที่สามารถนำความรู้จากปีก่อนมาสอน มีน้อยลง ส่วนคนที่ไม่ได้เข้าร่วมเมื่อปีก่อน น่าจะไม่กล้าสมัคร เพราะไม่มั่นใจในความรู้ของตัวเองว่าสามารถสอนได้ไหม เพราะเป็นความรู้นอกห้องเรียน

ซึ่งปีก่อนๆ จะมี Boot camp ให้ทีม staff ฝ่ายวิชาการแต่ละวิชาก่อน เป็นเวลา 1 เดือน เพื่อเตรียมความพร้อมไปสอนน้อง แต่ปีที่ผมจัดไม่มี เพราะเวลาไม่พอ ตรงนี้เกิดจากการวางแผนและจัดเวลาที่ผิดพลาดของผมเอง จะแก้ก็ไม่ทันแล้ว เลยใช้เท่าที่มีอยู่นี่แหละ ให้มีประสิทธิภาพที่สุด

Move แรกของผม คือประกาศรับเพิ่มอีกรอบ รอบนี้รับแค่ฝ่ายวิชาการที่ขาด เอาให้ชัวร์ว่าไม่มีจริงๆ ผลที่ได้คือ ไม่มีใครสมัครมาเลย โอเค ถ้างั้นคงต้องใช้วิธีอื่น

โปสเตอร์รับสมัคร โครงการ SIT Hello World 2022 รอบเพิ่มเติม

สถานการณ์ตอนนี้ ฝ่ายเกมจะค่อนข้างหนัก เพราะ Game Design ไม่มีคนสอน ส่วน Game Development ก็คนน้อยมาก ทำให้ผมจะตัดสายเกมออกแล้ว แต่เพื่อนฝ่าย Game Development มาห้ามไว้ก่อน พร้อมเสนอว่า ลดสเกลลงมาได้ เพราะเพื่อนในฝ่ายบอกว่าทำกันแค่นี้ไหว และไม่อยากให้ตัดออก

ผมเลยเอาตามนั้น จึงมีการปรับสเกลฝ่ายวิชาการกันยกใหญ่ ตามนี้ครับ

  • ตัดฝ่าย Game Design ทิ้ง
  • ลดจำนวนกลุ่มสายเกม จาก 6 -> 4 กลุ่ม
  • ทำให้ฝ่าย Infrastructure ต้องรับน้องจำนวนน้อยลงสองคน จาก 12 -> 10 คน

ทำให้จำนวนผู้เข้าร่วมถูกแก้ไข เหลือ 52 คน คือ และพี่วิชาการประจำกลุ่ม ที่จำนวนคนไม่พอ ทำให้พี่ฝ่าย Game Development บางคนต้องควบดูแลสองกลุ่ม และพี่ฝ่าย Infrastructure บางคนควบสามกลุ่ม

โหวต Theme

ตอนนั้นยังไม่มีอะไรเป็นรูปเป็นร่างเลย รู้แค่ว่าโครงการปีนี้ ต้องเป็น Hello World F อะไรสักอย่าง เลยไปหาตัวเลือกที่น่าสนใจ มาให้ทีม staff โหวตกันตอนประชุมครับ ที่มีใน choices คือ Falcon, Fennec, Ferret, Flamingo และ Frog ให้โหวตได้มากสุดคนละ 3 โหวต

โดยผลที่ออกมาคือออ

ภาพผลโหวต Theme โครงการ จาก Mentimeter

Fennec นำมาเป็นที่หนึ่ง Falcon ที่สอง และ Ferret ที่สาม

โดยตัว Fennec เป็นจิ้งจอกทะเลทราย ทำให้ Theme หลักของโครงการ จึงเป็นทะเลทราย และเน้นโทนสีส้มเหลืองไปโดยอัตโนมัติ

เว็บโครงการ

ปกติโครงการนี้จะมีเว็บไซต์ และเกม สำหรับใช้ในการประชาสัมพันธ์ ปีนี้ก็เช่นกัน ความคิดแรกเริ่มของผม คือ จะฟอร์มทีม developer สำหรับเว็บไซต์และเกม ตามที่เห็นจากโปสเตอร์รับสมัครด้านบนครับ ซึ่งไปถึงขั้นมีสมาชิกในทีมเรียบร้อยแล้ว ผมก็ไปเทเขากลางคันเอาดื้อๆ เพราะฝ่ายเว็บผมเป็นคน lead และด้วยที่ว่ามีงาน management ที่ต้องดูแลอยู่แล้ว ถ้าต้องคุม process ทำเว็บด้วย คิดว่าคงทำเสร็จไม่ทัน และทำไม่ไหว เลยรับจบงาน Design และ Development ของเว็บไว้คนเดียว และเสนอตำแหน่งวิชาการให้เพื่อนๆ ในทีมไป โชคดีที่ทุกคนไม่ติดปัญหาอะไร แต่ก็อยากขอโทษทุกคนในทีมนั้นไว้อีกที ถ้าผ่านมาอ่านครับ 🥲 ส่วนฝ่ายเกม มีเพื่อนอีกคนดูแลอยู่ จึงทำงานตาม process เหมือนเดิม

หลังจากยึดงานมาทำคนเดียวแล้ว ก็ได้เวลาลง Design

ในใจผมมี Design ที่อยากทำอยู่แล้ว คือทำเป็น landing page หน้าเดียว บอกรายละเอียดต่างๆ ของโครงการ ทั้งข้อมูลต่างๆ โครงการ และรายละเอียดแต่ละฝ่าย ตามแบบของปีก่อนๆ อาจมีเพิ่มลดลูกเล่นนิดหน่อย ตัว Design ภาพรวม อยู่ใน Figma ด้านล่างครับ

ต่อมาคือตอน dev จะใช้เป็น React.js + Tailwind css ตามที่จะใช้สอนน้องๆ เลย สารภาพตามตรงว่าตอนนั้น React และประสบการณ์เขียนเว็บผมงูๆ ปลาๆ มาก เคยเขียนจากตอนเข้า Hello World ปีก่อน หรือหัดเขียนเล่นๆ ไม่ได้เก็บรายละเอียดจริงจัง แต่พอเป็นงานนี้ เป็นงานแรกที่เขียนแล้วมีคนมาใช้จริง เป็นหน้าเป็นตาของโครงการ เลยใช้เวลาเขียน แก้ และเก็บงานรวมๆ เกือบ 3 เดือน ทั้งๆ ที่หน้าเว็บไม่มีอะไรเยอะ แต่มันนานเพราะผมโล๊ะทำใหม่หลายรอบมาก เพราะไอนู่นไอนี่พังบ่อย

หลังจากงานนี้ ของแถมที่ผมได้กลับมาคือ ผมเขียน React คล่องปรื๋อเลย ผลจากการ suffer มาหลายเดือน

ตัวเว็บจริง จะมีเพื่อนฝ่าย Infrastructure คอย deploy ให้ โดยใช้ virtual machine ของคณะ ทำให้ได้ url ต่อท้ายเป็น .sit.kmutt.ac.th เท่ๆ แต่ด้วยที่ตัว vm เป็นการยืมใช้ ทำให้เมื่อสิ้นสุดโครงการ พี่เจ้าหน้าที่จะลบทิ้ง ตัวด้านล่างนี้เลยจะเป็นตัวที่ผม deploy เก็บไว้เอง สามารถเข้าไปรับชมได้ครับ

https://helloworldfennec.vercel.app/?source=post_page—–8059331c52a4——————————–

มีแถมอีกเว็บ ตัวนี้เว็บรวม Class material ของแต่ละวิชา เกิดจากที่ผมเห็นว่าเวลาเรียน ผู้สอนจะต้องเสียเวลาแชร์ตัว slide ให้ผู้เรียน รวมถึงเวลาจะทบทวน ยังย้อนกลับมาหาได้ยาก ทำให้ผมอยากสร้างสื่อกลางมา centralized ทุกอย่างไว้ที่เดียวครับ เลยได้เป็นเว็บอีกตัวที่ออกมา และถือโอกาสหัดใช้ Next.js ไปด้วยเลย

https://hellofennec-learn.vercel.app/teams?source=post_page—–8059331c52a4——————————–

ซึ่งจากที่เห็น สามารถแก้ปัญหาได้จริงครับ เวลาน้องๆ จะหาสไลด์ จะเข้ามาที่เว็บนี้เลย บางคนน่าจะเข้ามาบ่อยกว่าเว็บหลักของโครงการเลยด้วย และนี่เลยเป็นอีกแรงดาลใจที่ทำให้ผมอยากทำเว็บ หรือแอพพลิเคชั่น มาช่วยแก้ปัญหาให้ผู้คนครับ

นอกจากนี้ เว็บนี้ ยังตัวต้นแบบ ของเว็บตารางเรียนในโครงการ IT#29 Starter Pack ด้วยครับ

https://it29starterpack-schedule.vercel.app/?source=post_page—–8059331c52a4——————————–

คัดเลือกน้อง ๆ

หลังจากเราเตรียมการกันได้ 70% และมีสิ่งต่างๆ ที่พร้อมเปิดเผยสู่สาธารณะชนครบถ้วนแล้ว ก็ถึงเวลาเปิดตัว และรับสมัครผู้เข้าร่วมครับ

ด้วยที่ว่าโครงการนี้เป็นสเกลระดับคณะ ผู้เข้าร่วมจึงจะมีทั้งจากสาขา IT, CS และ DSI แต่เนื่องจากเราไม่มีที่เพียงพอสำหรับทุกคน จึงต้องคัดเลือกอย่างดุเดือด จากรายชื่อนับร้อย เหลือไม่ถึง 60 คน โดยคำถามสำหรับคัดเลือก มีทั้งวัดความสามารถทางวิชาการ และการทำงานเป็นทีม ใช้วิธีคัดเหมือนกับตอนคัด staff แต่มีทีมวิชาการมาเสริมแรงด้วย

เนื่องจากวันที่ 29 ตุลาคม เป็นวันที่ต้องเริ่มโครงการ และสัปดาห์ก่อนหน้านั้นเป็นสัปดาห์สอบ ทำให้ต้องทำทุกอย่าง ทั้งคัดเลือก และประกาศผล สำหรับผู้เข้าร่วมโครงการให้เรียบร้อยก่อนหน้านั้น ความเดือดคือ วันที่ปิดรับสมัคร คือวันที่ 21 ตุลาคม คัดเลือกวันที่ 22 ตุลาคม และประกาศผลวันที่ 23 ตุลาคม ทีม HR ปั่นงานกันมือหงิก ยอมใจสุดๆ

เริ่มกิจกรรม

งานวันแรกจะเป็น online มีพิธีเปิด และเริ่มการเรียนการสอนคาบแรกของแต่ละฝ่าย ซึ่งก่อนหน้านั้นผมกังวลมาก เพราะกลัวมันจะออกมาไม่ดี แต่ผลจากพยายามของเพื่อนๆ ทุกคน ทำให้วันแรกผ่านไปได้อย่างราบรื่นไร้ที่ติมากๆ ยอมรับว่าตอนนั้นดีใจสุดๆ ครับ

งานเข้า

อันนี้ไม่เล่าไม่ได้ เรื่องมีอยู่ว่า ตอนคาบเรียนวันที่สอง คือ วันพุธที่ 2 พฤศจิกายน ตามปกติเราจะเรียนกัน 17:00–20:00 น. แต่หลังจากเริ่มเรียนกันไปประมาณ 1 ชั่วโมง ก็มีโทรศัพท์มาหาผม

เจโรม นี่อาจารย์จิงนะ ห้องเขาให้ใช้ได้ถึง 1 ทุ่ม ไม่งั้นจะแสกนเข้าออกประตูไม่ได้ เดี๋ยว 6 โมงครึ่งปล่อยรีบปล่อยน้องเลย เผื่อเวลาเคลียร์ห้องด้วย — อาจารย์จิงโทรมาด้วยน้ำเสียงเร่งรีบ

ห๊าา ไหงตอนจองห้องก็จองได้ถึง 2 ทุ่ม อยู่ดีๆ ก็งานเข้ากระทันหันแบบนี้เลย

หลังจากนั้น ผมก็ทำตามที่อาจารย์แกบอก เกิดเป็นเหตุวุ่นวายเล็กๆ เพราะ staff เดินวุ่นกันเต็มหน้าห้องเลย ขอโทษน้องๆ ด้วยครับถ้าวันนั้นเรียนไม่รู้เรื่อง

หลังจากวันนั้น ผมก็ไปตามสืบเสาะต้นสายปลายเหตุ สรุปคือ ห้องที่ตึก LX จะใช้บัตรนักศึกษาในการสแกนเข้าห้อง แต่ผมก็เพิ่งรู้ว่าเขาไม่ได้เปิดให้เข้าตลอด 24 ชม. บัตรของอาจารย์จะเข้าได้ถึง 2 ทุ่ม แต่ของนักศึกษาจะได้ถึงแค่ 1 ทุ่ม หากจะใช้ห้องอยู่ดึกกว่านั้น จะต้องมีอาจารย์อยู่ดูแลด้วย

แล้วที่บอกว่าใช้บัตรสแกนเข้า คือ แค่ขาเข้าขาเดียวครับ ถ้าจะออกห้อง แค่เอาอะไรไปแกว่งๆ ตรงเรดาห์ประตูก็ปลดล็อกแล้ว ถ้าคนข้างนอกปลดล็อกเข้ามาไม่ได้ ก็ให้คนข้างในเปิดให้ได้ จะปิดตายก็ต่อเมื่อไม่มีคนในห้อง แต่ที่อาจารย์จิงเข้าใจคือ จะล็อกแบบปิดตาย เข้าออกไม่ได้เลย แล้วแกกลัวจะติดกันอยู่ในห้องครับ เลยโทรมาด้วยน้ำเสียงเร่งรีบ แบบเหตุด่วนสุดๆ

ต่อให้ไม่ต้องกังวลเรื่องประตู แต่ถึงยังไง เราก็ใช้ห้องได้ถึงแค่ 1 ทุ่มอยู่ดี เพราะเราไม่มีอาจารย์คอยเฝ้า จะให้อาจารย์ที่ปรึกษามา แกก็ไม่สะดวก เพราะงานทางเขาก็รัดตัวเหมือนกัน ทางออกสุดท้ายคือ ปรับเวลาของวันพุธ ให้เหลือคาบละ 2 ชั่วโมง เป็น 17:00–19:00 น. แต่คราวนี้เลิก 1 ทุ่มตามเวลาได้ เพราะไม่ต้องกังวลเรื่องประตูล็อกแล้ว

แต่ถึงอย่างนั้น การที่เวลาเรียนหายไป 1 ใน 3 ก็ส่งผลกระทบให้ฝ่ายวิชาการไม่น้อย เพราะผิดจากที่วางแผนไว้ตอนแรก ทำให้ต้องรีบอัดเนื้อหา หรือตัดบางส่วนออก เพื่อให้ทันเวลา ทำให้การเรียนการสอนทำได้ไม่เต็มประสิทธิภาพเท่าที่ควรครับ

หลังจากวันนั้น ทุกอย่างก็เริ่มลงตัว จัดกิจกรรมได้อย่างต่อเนื่องไม่ติดขัด ลากยาวมาจนถึงวันสิ้นสุดโครงการครับ

ภาพผมตอนสอนเรื่อง Git ในฝ่าย Front-end Development

Presentation Day

เป็นวันสุดท้ายของโครงการ โดยจะให้น้องๆ นำโปรเจคที่กลุ่มตัวเองได้ทำ มานำเสนอให้เพื่อนๆ และพี่ๆ ทุกคนดู โดยมีพี่ๆ mentor จากปี 3 มาประเมิน และให้คำแนะนำ โดยจะมีรางวัลให้น้องๆ กลุ่มที่คะแนนมากที่สุด และกลุ่มที่มีคนชอบมากที่สุด โดยโหวตจากผู้เข้าร่วมทุกๆ คน จัดในวันเสาร์ที่ 29 พฤศจิกายน เป็นกิจกรรมเต็มวัน ตั้งแต่ 9 โมงเช้า ถึง 5 โมงเย็นครับ โดยแบ่งเป็นช่วงเช้าและบ่าย ช่วงเช้าจะเป็นสายเกม และช่วงบ่ายเป็นสายเว็บ

ตอนจัดการเรียนการสอนปกติ คาบเรียนก็มีแค่ 2–3 ชม. ไม่เคยรันงานแบบเต็มวันมาก่อน เพิ่งรู้ว่าการแบ่งเวลา และควบคุมเวลา ต้องเป๊ะมากๆ เพราะจะต้องมีช่วงให้ present และช่วงฟัง feedback จาก mentor กระทั่งช่วงระหว่างเปลี่ยนกลุ่ม present ที่ก็ต้องใช้เวลา ทำให้ต้องกำหนดให้ดีว่าแต่ละกลุ่มจะใช้เวลาเท่าไร เพื่อให้งานดำเนินได้ตามกำหนดการ

สุดท้ายแล้ว งานในวันนั้น ก็ผ่านไปได้ด้วยดี ด้วยความช่วยเหลือจากทีม staff ทุกๆ คนครับ

ภาพบรรยากาศตอนนำเสนอกลุ่มสายเว็บ
ภาพตอนกล่าวปิดโครงการ

ด้วยความตื่นเต้น กังวล และมีเรื่องในหัวต้องคิดเยอะมาก ทำให้คืนก่อนวันงาน ผมได้นอนไป 3 ชม. และต้องรีบตื่น เพื่อไปเตรียมห้อง และอุปกรณ์ต่างๆ ให้ทัน ช่วงเช้าก็วุ่นๆ กว่าจะได้กินข้าวก็เที่ยงเลย แถมเดินไปเดินมาทั้งวัน เสร็จงานก็อยู่เคลียร์ต่อจนถึง 1 ทุ่ม กว่าจะได้กลับ ขอบคุณร่างกายตัวเองมากครับที่ทนทรหดจนผ่านวันนั้นมาได้

ส่งท้าย

ตอนแรกไม่มั่นใจเลย ว่าตัวเองจะทำได้ไหม เพราะนี่คือครั้งแรก ที่ต้องนำทีมที่มีสเกลใหญ่ และมีโครงสร้างเป็นเรื่องเป็นราวสุดๆ เป็นงานที่จัดให้คนอื่นเข้าร่วม ถ้าเราทำได้ไม่ดี ผู้เข้าร่วมก็จะได้ประสบการณ์ที่ไม่ดี แต่เพื่อนๆ และคนรอบตัวผม เชื่อว่าผมสามารถเป็นผู้นำที่ดีได้ และคอยให้กำลังใจมาตลอด ขอบคุณมากๆ ครับ

การเป็นประธานโครงการนี้ ทำเห็นผมเห็นมุมมองใหม่ๆ มากมาย ของการจัดอีเวนท์ ค่าย หรือโครงการต่างๆ ว่ามันไม่ได้มีแค่คิดว่า เราจะให้ผู้เข้าร่วมได้อะไรบ้าง แต่ต้องลงลึกไปถึงเราจะต้องให้ทีม staff ทำอะไรบ้าง ผู้เข้าร่วมถึงจะได้รับสิ่งที่เราคาดหวัง นอกจากนี้ยังต้องคิดถึง staff ด้วย ว่าเขาจะได้รับอะไรกลับไปบ้าง จากการทำงานนี้ ทั้งประสบการณ์ใหม่ๆ หรือการพัฒนาความสามารถของตัวเอง

บทความนี้ข้ามส่วน process การเตรียมงานไปเยอะมาก เพราะมันมีเรื่องที่ผมอยากยกมาเล่าเยอะจริงๆ ครับ ส่วนใหญ่จะเน้นไปที่ปัญหาที่เจอ และวิธีที่ผมใช้แก้ไข อาจจะไม่ได้นำเสนอให้เห็นภาพรวมของโครงการได้ชัดเจน หากใครอยากอ่านเพื่อเป็น How to อาจจะไม่ตอบโจทย์ได้ 100% ต้องขออภัยไว้ด้วยครับ

แต่ละปัญหาที่เล่า อ่านแล้วอาจจะดูเหมือนเล็กๆ จิ๊บจ๊อย แต่ตอนเจอจริง ทำผมหน้าซีดทุกอันครับ ใครที่เจอปัญหาแบบผม แล้วรู้สึกว่ามันหนักจัง อยากบอกว่า หนักนั่นแหละ คือปกติครับ ค่อยๆ แก้ ผมเป็นกำลังใจให้

ผมรู้ตัวว่าในโครงการนี้ ผมยังทำได้ไม่ดีพอ และมีจุดที่ผิดพลาดมากมาย ทั้งที่เล่าไว้ และไม่ได้เล่า แต่สิ่งที่ผมทำได้คือ นำสิ่งเหล่านั้นมาปรับปรุงและพัฒนาตัวเอง ให้ทักษะต่างๆ ที่ได้เหล่านี้ เฉียบคมเพียงพอ และพร้อมใช้งาน เมื่อโอกาสครั้งถัดไปมาถึงครับ

บทความจากฝั่งน้อง ๆ ผู้เข้าร่วมโครงการ

https://jakeyslinky.medium.com/%E0%B8%A3%E0%B8%B5%E0%B8%A7%E0%B8%B4%E0%B8%A7%E0%B8%84%E0%B9%88%E0%B8%B2%E0%B8%A2-helloworld-fennec-sit-kmutt-2022-25ab8bc79f43

https://medium.com/@issadaornkulsantao/%E0%B8%A3%E0%B8%B5%E0%B8%A7%E0%B8%B4%E0%B8%A7%E0%B8%81%E0%B8%B2%E0%B8%A3%E0%B9%80%E0%B8%82%E0%B8%B5%E0%B8%A2%E0%B8%99%E0%B9%80%E0%B8%81%E0%B8%A1%E0%B8%84%E0%B8%A3%E0%B8%B1%E0%B9%89%E0%B8%87%E0%B9%81%E0%B8%A3%E0%B8%81%E0%B9%83%E0%B8%99%E0%B8%8A%E0%B8%B5%E0%B8%A7%E0%B8%B4%E0%B8%95-a85a2f8443ad

Share the Post:

Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *

Continue Reading

คนที่คุยเก่ง อาจไม่ต้องพูดเก่งเสมอไป

เทคนิคในการพูดคุยที่น่าสนใจ จากหนังสือ 9 ใน 10 ของ ชีวิต พิชิตด้วยการพูด

The Pomodoro Technique

เคลียร์งานไว ใน 25 นาที

สมการ Value

คำว่า value ที่เราได้ยินกัน มันประกอบด้วยอะไรบ้าง

Lower Your Time Preference

ลงทุนแรงและเวลาในวันนี้ เพื่อสิ่งที่ดีกว่าในอนาคต