เหมือนรู้เยอะแล้ว แต่ไม่รู้เยอะกว่า

เหมือนรู้เยอะแล้ว_แต่ไม่รู้เยอะกว่า_cover

เคยเรียนรู้อะไรสักอย่าง จนรู้สึกว่าฉันรู้ทุกอย่างแล้ว แต่พอกลับไปเรียนรู้ต่อไปเรื่อย ๆ ถึงเพิ่งรู้ว่าตัวเอง ไม่รู้อะไรเลย ไหมครับ ความรู้สึก ยิ่งรู้ ยิ่งโง่ แบบนี้ ผมเชื่อว่าทุกท่านเคยเจอ หรือรู้สึกสักครั้งในชีวิต จริง ๆ แล้วเป็นเรื่องปกติครับ อาการแบบนี้ มีชื่อเรียกว่า Dunning-Kruger Effect (ดันนิง-ครูเกอร์ เอฟเฟค)

แล้วมันคืออะไรกันนะ?

Dunning-Kruger Effect

มันคือ การที่ความคิดในหัวเรา บอกว่าตัวเองเก่ง และมีความสามารถมาก ทั้ง ๆ ที่ความจริง มันอาจจะยังไม่ได้เป็นเช่นนั้น

แนวคิดนี้เริ่มต้นมาจากคุณ David Dunning และคุณ Justin Kruger ที่ได้ศึกษาเกี่ยวกับความสัมพันธ์ระหว่าง ความสามารถที่มีจริงๆ กับ ความมั่นใจที่เรามี เกี่ยวกับเรื่องนั้น ๆ

จากการทดลอง ให้ผู้เข้าร่วม ทำแบบทดสอบเกี่ยวกับ การใช้ทักษะทั่วไป ในด้านต่าง ๆ และทำการประเมินว่า คิดว่าตัวเองจะได้คะแนนจากแบบทดสอบนี้ที่เท่าไร

โดยผลสรุปที่ได้ คือ คนที่ได้คะแนนต่ำ มีแนวโน้มที่จะประเมินว่าตัวเองจะได้คะแนนที่สูงเกินจริง และโดยเฉลี่ย คนกลุ่มนี้จะคิดว่าตัวเองทำได้ดีกว่าคนอื่นๆ อีก 62% แต่จริงๆ แล้ว ทำได้ดีกว่าคนอื่นๆ แค่ 12% เท่านั้น

ทำให้เห็นว่า เมื่อคนเรายิ่งรู้อะไรสักอย่างน้อยเท่าไร ความมั่นใจของเรา ก็มีแนวโน้มที่จะสูงขึ้นมากเท่านั้น

ถ้าให้เปรียบ มันเป็นเหมือนอาการขั้วตรงข้ามของ Imposter Syndrome หรือ โรคคิดว่าตัวเองไม่เก่งนั่นแหละครับ

ปกติแล้ว เมื่อเราเพิ่งเริ่มศึกษาหรือเรียนรู้เรื่องใหม่ ๆ เมื่อไปถึงจุดๆ หนึ่ง ความมั่นใจของเราจะเพิ่มขึ้นแซงหน้าความสามารถที่เรามีอยู่จริงๆ และอาจทำให้เกิดความคิดที่ว่า “ฉันรู้ทุกอย่างแล้ว” มาบังตาเรา จากสิ่งที่เรายังไม่รู้

ลองจินตนาการว่า Bob กำลังหัดขับรถ หลังจากเขาสามารถเข้าเกียร์ เดินหน้า ถอยหลัง เลี้ยวซ้าย ขวา ได้แล้ว ทำให้ Bob รู้สึกภูมิใจในตัวเองมาก และคิดว่าการขับรถมันก็ไม่ได้ยาก หลังจากนั้น Bob ก็อาจจะเอาไปโม้ให้เพื่อนฟังด้วย ว่าตัวเองขับรถเป็นแล้ว ทั้งๆ ที่ Bob ยังไม่รู้วิธีจอดรถเข้าซอง ยูเทิร์น หรือกฏจราจรพื้นฐานเลย

คนกลุ่มที่จะมีโอกาสจะมีอาการนี้ ส่วนมากมักจะเป็น มือสมัครเล่น หรือ คนที่เพิ่งเริ่มต้นศึกษาอะไรสักอย่าง เพราะถ้า Bob ไม่เคยจับพวงมาลัยมาก่อน เขาคงไม่ไปบอกเพื่อนว่าเขาขับรถเป็น เห็นด้วยไหมครับ

แล้วทำไมระดับความมั่นใจของเรามันถึงพุ่งสูงขึ้นได้รวดเร็วขนาดนั้น

จากบทความของ The Decision Lab ระบุไว้ว่า การที่เรารู้เรื่องพื้นฐานแค่นิดหน่อย จะทำให้เรารู้สึกว่าเป็นคนพิเศษ เพราะคิดว่าเรารู้ในสิ่งที่คนทั่วไปไม่รู้ (อย่างที่ Bob เป็น) ทั้งๆ ที่มันอาจจะเป็นแค่เรื่องทั่วไปก็ได้

กลับกัน หากเราเชี่ยวชาญในสักเรื่องจริง ๆ เราจะยิ่งถ่อมตัว และมองว่าการรู้เรื่องพื้นฐานเหล่านั้น ไม่ได้พิเศษอะไร เพราะเราอยู่กับมัน จนกลายเป็นเรื่องปกติ และคิดว่า คนอื่นก็สามารถเรียนรู้ได้ง่ายๆ ทั้งๆ ที่บางทีมันอาจจะยากสำหรับเขา มากกว่าที่เราคิดก็ได้

หรือจากหนังสือ Think Again ที่ระบุไว้ว่า สาเหตุบางส่วน มาจากความทะนงตัวของเรา ที่มักผลักดันให้เราปฏิเสธความอ่อนแอ และทำให้คิดว่าตัวเองสมบูรณ์แบบ จนมันสร้างจุดบอดที่ทำให้เรามองไม่เห็น ความไร้ความสามารถ ของตัวเอง

Mount Stupid

ถ้าเอาระดับความมั่นใจ เทียบกับความรู้ความสามารถ ออกมาวาดเป็นภาพ จะได้แบบข้างล่างนี้ครับ

จะสังเกตได้ว่าจะมีเส้นโค้งสูง ๆ เส้นหนึ่ง นี่คือ Mount Stupid (ยอดเขาแห่งความโง่เขลา) ครับ

อย่างที่เล่าไปแล้ว ว่าในช่วงแรกที่เราเพิ่งจะเริ่มเรียนรู้ ความมั่นใจเราจะทะยานสูงขึ้นเป็นเนินชัน

จนเมื่อเราไปถึงยอดเขา และพบว่าจริงๆแล้วยังมีอีกหลายสิ่ง ที่เรายังไม่รู้ ความมั่นใจของเราจะวิ่งดิ่งลงเนิน มาสู่ Valley of Despair (หุบเขาแห่งความสิ้นหวัง) นี่คือตอนที่อาการ ยิ่งรู้ ยิ่งโง่ เกิดขึ้นนั่นแหละครับ

ความจริงแล้ว อาการ ยิ่งรู้ ยิ่งโง่ ถือเป็นเรื่องที่ดีครับ เพราะอย่างน้อยก็เป็นสัญญาณบอกว่า คุณกำลังลงมาจากยอดเขาแห่งความโง่เขลาแล้ว

หลังจากนั้น เมื่อเราเรียนรู้ ศึกษาต่อไปเรื่อย ๆ ความมั่นใจของเราจะเพิ่มขึ้น โดยคราวนี้ จะสัมพันธ์กับความรู้ที่เรามีจริง ๆ และเนินเขาลูกที่สองนี้ จะชันน้อยลง เป็น Slope of Enlightnment (ทางลาดแห่งการรู้แจ้ง)

สุดท้าย เราจะไปหยุดที่ Plateau of Sustainability (ที่ราบแห่งความยั่งยืน) หรือจุดที่เราเชี่ยวชาญในสิ่งนั้นจริง ๆ

ที่น่าเศร้าคือ บางครั้งในหลาย ๆ เรื่อง เราก็ติดอยู่บนยอดเขาแห่งความโง่ ปลูกบ้าน สร้างครอบครัวอยู่บนนั้นเป็นหลักเป็นแหล่ง ไม่ยอมลงมาเสียที หรือบางที ก็ไม่รู้ตัวว่ากำลังอยู่บนยอดนั้นด้วยซ้ำ

ทำยังไงกับมันได้บ้าง?

หมั่นถอยออกมาสังเกตตัวเอง และคิดทบทวนในสิ่งที่เราคิดว่ารู้ อยู่เสมอ ๆ ครับ ว่าเรารู้สิ่งนั้นจริง ๆ หรือเปล่า

สิ่งที่ผมทดลองทำแล้วคิดว่าได้ผลลัพธ์ค่อนข้างดี คือการนำไปแบ่งปันให้กับคนอื่น ๆ ครับ

ไม่ว่าจะนำไปเล่าให้เพื่อนๆ หรือคนรู้จักฟัง จัดคลาสสอน ทำคลิปวิดีโอ หรือเขียนบทความ (แบบที่ผมกำลังทำอยู่)

ผมสังเกตว่า เวลาตั้งใจจะนำสิ่งที่รู้ ไปถ่ายทอดให้คนอื่นๆ เราจะคิดทบทวนเยอะขึ้น ว่าสิ่งที่เรารู้มีอะไรบ้าง เรื่องไหนที่เรารู้จริงๆ บ้าง และมีอะไรบ้างที่เรายังอธิบายไม่ได้

If you can’t explain it simply you don’t understand it well enough — Albert Einstein

ผมคิดว่า บางทีเราก็อาจไม่มีทางรู้ว่า จุดที่เรายืนอยู่มันคือ ที่ราบแห่งความยั่งยืนหรือยัง เราอาจจะต้องขึ้น-ลงเขา มากกว่าสองลูกก็ได้ กว่าจะเจอลูกที่ดีที่สุด จึงต้องหมั่นสังเกตจุดที่เรายืนอยู่ บ่อย ๆ ด้วย

สุดท้าย ในการจะยอมละทิ้งความมั่นใจของตัวเอง เพื่อทบทวนสิ่งที่เรารู้ได้ เราต้องเริ่มจากการบอกตัวเองให้ได้ก่อนว่า บางครั้งคนเราก็อาจจะโง่ในบางเรื่อง ถึงแม้เราจะอยู่กับเรื่องนั้นมานานก็ตาม

ผมรู้จักเรื่องนี้ครั้งแรก จากหนังสือ Think Again ของ 

Adam Grant คิดว่าน่าสนใจดี เลยไปหาข้อมูลเพิ่มเติม และเอามาแชร์ต่อให้ทุกคนได้อ่านกันครับ

เรื่องตลกร้ายก็คือ ตอนนี้ผมอาจจะเกิดดันนิง-ครูเกอร์เอฟเฟค เกี่ยวกับเรื่อง ดันนิง-ครูเกอร์ เอฟเฟค อยู่ก็ได้ ขอตัวไปศึกษาเพิ่มก่อนนะครับ

เวลาเดินทางสู่ยอดเขาแห่งความโง่เขลาครั้งต่อไป อย่าลืมเซลฟี่มาด้วยนะ — Adam Grant

Share the Post:

Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *

Continue Reading

คนที่คุยเก่ง อาจไม่ต้องพูดเก่งเสมอไป

เทคนิคในการพูดคุยที่น่าสนใจ จากหนังสือ 9 ใน 10 ของ ชีวิต พิชิตด้วยการพูด

The Pomodoro Technique

เคลียร์งานไว ใน 25 นาที

สมการ Value

คำว่า value ที่เราได้ยินกัน มันประกอบด้วยอะไรบ้าง

Lower Your Time Preference

ลงทุนแรงและเวลาในวันนี้ เพื่อสิ่งที่ดีกว่าในอนาคต