บางทีเรามีเรื่องต้องทำเยอะมากเลย บางอันก็ใกล้เดดไลน์ พอจะตั้งใจทำ ก็มีแต่เรื่องรอบตัวเข้ามา distract ตลอด จนงานที่ควรจะเสร็จ ก็ไม่เสร็จ เพราะมัวแต่ไปทำอย่างอื่น
หรือพอนั่งคิดงานไปสักพักก็สมองตัน คิดไม่ออก สุดท้ายงานไม่เดิน เพราะเวลาส่วนใหญ่ นั่งตาลอย อยู่
เลยต้องมีจังหวะที่ต้องเร่ง และผ่อน ซึ่งเทคนิคนึงที่ช่วยจัดการเวลา ให้สมองทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพสูงสุด ที่ผมอยากนำมาแบ่งปัน คือ Pomodoro
Pomodoro Technique
Pomodoro Technique เป็นเทคนิคการจัดการเวลา โดยการแบ่งทำงานเป็นรอบสั้น ๆ มีจังหวะทำ และจังหวะพัก
นี่ไม่ใช่เทคนิคใหม่ มีมาแล้วต้ังแต่ 1980s โดยคุณ Francesco Cirillo
Pomodoro มาจากภาษาอิตาลี แปลว่า มะเขือเทศ มีที่มามาจากนาฬิกาจับเวลา ที่ตา Francesco ใช้ เป็นรูปมะเขือเทศเฉย ๆ ง่าย ๆ เลย
เป็นเทคนิคที่เหมาะกับกิจกรรมสำคัญที่ต้องใช้โฟกัสสูง อย่างตอนนี้ผมก็ใช้ Pomodoro เขียนบทความนี้อยู่
ทำยังไง?
มีทั้งหมด 4 ขั้นตอน
1. เขียนว่าจะทำอะไร
เขียนให้ อ่านปุ๊บ ทำได้ปั๊บ
เวลาเขียน todo ถ้าเขียนกว้างไป จะไม่รู้อย่างชัดเจนว่าต้องทำอะไรบ้าง ให้นึกลงไปต่ออีก 1 step
เช่น ถ้าเราอยากเขียนบทความให้เสร็จ แล้วเขียนใน todo ว่า “เขียนบทความ” มันจะใหญ่มาก และทำไม่เสร็จได้ใน 1 รอบ จึงควรแตก task ย่อยออกมา เป็น
- หาเรื่องที่อยากเล่า
- ค้นหาข้อมูลที่จะนำมาเขียน
- ออกแบบวิธีเล่า
- วางโครงสร้างบทความ
- ฯลฯ
จากนั้น ให้ priority task ที่สำคัญ โดยตรงนี้ เราสามารถใช้ 80/20 rule มาช่วยได้อย่างเป็นธรรมชาติมาก
2. จับเวลา 25 นาที
เลือกหยิบงานที่เขียนไว้มา 1 อย่าง และจดจ่อกับแค่งานนั้นอย่างเดียว เป็นการลดการสลับงาน ซึ่งเป็นสิ่งที่เพิ่มภาระให้กับสมองเป็นอย่างมาก
การสลับงาน ทำหลายอย่างพร้อมกันบ่อย ๆ จะทำให้สมองทำงานหนักขึ้น ประสิทธิภาพในการทำงานลดลง และทำผิดพลาดได้ง่ายขึ้น
ถ้ามี distraction อะไร ให้จดเอาไว้ แล้วค่อยกลับมาดูทีหลัง ถ้าไม่ด่วนจริง ๆ
คนเราจะจดจ่อกับงานอยู่ได้ต่อเนื่อง 14–45 นาที ก่อนที่สมาธิจะค่อย ๆ ลดลง ซึ่งที่ Pomodoro บอกว่าให้ทำรอบละ 25 นาที เพราะถ้าเร็วไป งานจะไม่เสร็จ และถ้านานไปเราจะโดน distract ง่ายขึ้น
ข้อดีอีกอย่างคือ มันไม่ทำให้สมองเราทำงานหนักเกินไป เพราะเมื่อเราใช้งานมันไปสักระยะหนึ่ง สมองจะเริ่มล้า และรับ input หรือคิด output ออกมาได้ลดลง เลยต้องมีเว้นจังหวะให้ได้พัก นึกภาพเหมือนเวลาเราผ่อนเครื่องยนต์ไม่ให้มัน overheated
สำหรับคนที่ยังไม่คล่อง จึงแนะนำเป็น 25 นาที พัก 5 นาที แบบปกติ แต่ถ้าเซียนแล้ว custom เองได้เลย
หานาฬิกาจับเวลามาใช้ด้วยจะยิ่งดี เลี่ยงการใช้โทรศัพท์มาจับเวลา เพราะ distraction ส่วนใหญ่อยู่ในนั้นหมดเลย เอาไปซ่อนไว้เลยยิ่งดี แต่ให้หาเจอด้วยนะ
ยิ่งถ้าใช้นาฬิกาจับเวลาที่ออกแบบมาเฉพาะ Pomodoro จะยิ่งดี เพราะมันหยุดไม่ได้ พอเริ่มหมุนไปแล้ว มันจะวิ่งต่อไปเรื่อย ๆ จนกว่าจะหมดเวลา เป็นการบังคับให้เราไม่อู้ และโฟกัสกับงานที่ทำ
3. กากบาทงานที่เสร็จแล้ว
ขีดเช็คงานที่ทำเสร็จแล้ว หลังจบแต่ละรอบ
เรื่องนี้เกี่ยวข้องกับการหลั่งของสารโดพามีนในสมอง ทำให้เรารู้สึกดีเมื่อทำงานเสร็จ และเป็นแรงจูงใจให้อยากทำงานให้เสร็จเพิ่ม
เอางานมาอีก!
4. พัก 5 นาที
ลุกขึ้น ไปเปลี่ยนอิริยาบท ยืดเส้นยืดสาย ดื่มน้ำ เข้าห้องน้ำ ให้ร่างกลายผ่อนคลาย พร้อมกลับมาลุยต่อรอบถัดไป
ทำวนไป
พอทำครบ 4 รอบ จะได้เบรครอบใหญ่ ประมาณ 15–30 นาที พักผ่อนเต็มที่ได้เลย แล้วค่อยกลับมาลุยต่อ
ตอนฝึกทำช่วงแรก ๆ จะยังติด ๆ ขัด ๆ แต่พอทำไปเรื่อย ๆ จะดีขึ้นเอง สำคัญสุดคือวินัย
และถ้าทำ task ใน 25 นาทีไม่จบ แปลว่า task นั้นใหญ่เกินไป คราวหน้าลองแตกออกมาให้เล็กกว่าเดิม หรือถ้าลองประเมินดูแล้ว task มันเล็กเกินไป ก็หยิบอันอื่นมาทำเพิ่มในรอบนั้น ๆ ได้
ผมเคยได้ยินเรื่อง Pomodoro มาผ่าน ๆ แต่ไม่เคยลองไปศึกษาและนำมาใช้จริงจัง จนได้ไปเข้า Workshop ของอาจารย์โอม ที่งาน CTC 2024 ในนั้นมีสอนใช้ Pomodoro ด้วย ผมลองมาศึกษาต่อและลองใช้กับตัวเองดู
ข้อสังเกตอย่างนึง ที่เห็นหลาย ๆ คนบอก และผมเองก็รู้สึกได้ คือ จะหมดพลังงานไปเยอะมาก ต่อให้ทำงานเสร็จไว
งานที่ต้องทำทั้งวัน อาจจะเสร็จในสองชั่วโมง แต่ใช้แรงเหมือนทำทั้งวันเท่าเดิมนะ
ซึ่งก็ยังถือว่ามีประโยชน์ เพราะมันช่วยประหยัดเวลาได้ อย่างน้อยก็ยังเอาเวลาที่เหลือไปลั้นลาได้
ผมคิดว่าทำไปสักพัก ร่างกายจะปรับตัวได้ แล้วเราน่าจะอึดขึ้น
ยิ่งถ้าเอาไปใช้กับ Second Brain นะ บอกเลย ไม่ใช่ขยันธรรมดา แต่เป็น ขยันนนนนส์!!!