จำไม่หมด จดดีกว่าจำ

laptop with notebook on the table in a coffee shop

หลายๆ คนคงเคยมีอาการที่ว่า ไปเจอเรื่องราวดีๆ หรือข้อมูลสำคัญๆ แต่พอไปทำนู่นทำนี่ ผ่านไปไม่กี่วันก็ “เอ๊ะ วันนั้นไปเจออะไรมานะ นึกไม่ออกแล้ว”

ปกติแล้ว เราใช้สมองทำหน้าที่อยู่ 2 อย่างใช่ไหมครับ คือ จดจำเรื่องราว และ สร้างสรรค์ไอเดียใหม่ๆ แต่พอมี input เข้ามาในหัวมากๆ เข้า เราก็ต้องแบ่งส่วนหนึ่งไปจำ อีกส่วนหนึ่งไปคิด สุดท้ายแล้ว จำก็จำได้ไม่หมด คิดของใหม่ก็คิดไม่ออก เพราะไอเดียมันตีกันมั่วซั่วไปหมด

ความจริงแล้ว เราสามารถมีความคิดในหัวได้ครั้งละไม่กี่อย่างในเวลาเดียวกันครับ ยิ่งจำรายละเอียดต่างๆ ในระยะยาวนี่คงไม่ต้องพูดถึง เพราะโดยพื้นฐานแล้ว สมองมีไว้คิด ไม่ได้มีไว้จำ

“Your brain is for having ideas, not for holding them.” — David Allen

การจด จึงเป็นแนวทางที่ดีและได้รับความนิยมอย่างแพร่หลาย เจออะไรมาก็จดมันซะให้หมด ปล่อยให้หน้าที่จำเป็นของสมุดโน๊ต ส่วนสมองเราทำหน้าที่คิดอย่างเดียวพอ อยากรู้อะไรก็มาเปิดหาเอา

แต่

การจดลงกระดาษแบบดั้งเดิม มีข้อจำกัดค่อนข้างเยอะ หลายท่านคงทราบดี ไม่ว่าจะเป็น “ไปจดไว้หน้าไหนนะ”, “ที่จดไว้เล่มนั้น หายไปไหนเนี่ย” หรือ “โอ๊ย! สมุดหมด”

หรือแม้แต่หากคุณจดด้วย application บนมือถือหรือคอมพิวเตอร์ แล้วไม่ได้ organized มันให้ดี ก็อาจเจออะไรที่คล้ายกันอย่าง “ไฟล์นั้นอยู่ไหนนะ” หรือ “ไฟล์อะไรเยอะแยะเนี่ย!”

ใช่ครับ การจดแบบนี้ มันค่อนข้างมีปัญหาในระยะยาว แต่ไม่ต้องกังวล เพราะ Second Brain จะเป็นพระเอกที่มาช่วยทุกคนในวันนี้

Second Brain

เป็นแนวทางที่ถูกคิดค้นโดยคุณ Tiago Forte ถ้าถามว่ามันคืออะไร เอาแบบง่ายๆ คือ วิธีการจด เพื่อจัดระเบียบความคิด ด้วยเทคโนโลยี

ลองนึกภาพว่าถ้าการที่คุณจดแล้วโยนทุกอย่างมากองๆ ไว้ด้วยกัน มันเหมือนเวลาที่คุณไปช็อปปิ้ง แล้วกลับมาคุณก็โยนของที่ซื้อมาไว้ในบ้านเลย ช่วงแรกๆ อาจยังไม่มีปัญหา เพราะของมันก็กระจายอยู่ตามพื้น มองหาอะไรก็ง่าย แต่พอนานวันเข้า ของในบ้านคุณจะเริ่มกองเป็นภูเขา แล้วคุณก็ต้องมาคอยเสียเวลาหาว่า น้ำยาล้างห้องน้ำมันไปอยู่ตรงไหนแล้ว

สิ่งที่คุณต้องทำ แน่นอนว่าไม่ใช่หยุดซื้อของ แต่เป็นจัดระเบียบบ้านของคุณครับ เอาน้ำยาล้างห้องน้ำ สบู่ ยาสระผม ไปไว้ในห้องน้ำ เอาช้อน ส้อม กระทะ ไปไว้ในห้องครัว เท่านี้บ้านของคุณก็จะสะอาดขึ้น และเวลาจะหยิบอะไรมาใช้ก็ง่ายขึ้น

Second Brain เป็นแบบนั้นเลยครับ

ผมชอบการเปรียบเทียบของคุณ เคน นครินทร์ ที่เคยพูดไว้ในวีดิโอเกี่ยวกับเรื่องนี้ ว่า Second Brain เหมือนกับมีคุณ มาริเอะ คอนโดะ นักจัดบ้านขั้นเทพชาวญี่ปุ่น คอยมาจัดระเบียบสมองให้เรา

แล้วมันทำยังไง มาครับ เดี๋ยวผมเล่าให้ฟัง

Building a Second Brain

หลักๆ มี 4 ขั้นตอน ย่อได้คำว่า C O D E

C — Capture

เลือกเก็บข้อมูลที่คุณสนใจ เพราะเราไม่สามารถเก็บไว้ได้ทุกอย่าง คุณคงไม่ซื้อคอนโดแมวมาวางให้รกบ้าน ถ้าคุณไม่เลี้ยงแมวใช่ไหมครับ

ถ้าให้เปรียบเทียบแบบนี้ก็อาจจะฟังดูง่าย แต่สำหรับข้อมูลหรือไอเดีย มันก็อาจจะต้องมี criteria อะไรที่ชัดเจนกว่านั้น ไว้ใช้เป็นแนวทางในการเลือกเก็บ โดยจะแบ่งได้ 4 ข้อครับ

  1. สร้างแรงบันดาลใจอันล้ำค่า — ไว้สำหรับคอยเปิดดูในเวลาที่เรากำลังท้อใจ เช่น คำชมเชยที่เคยที่ได้รับ หรือ Quote ที่ให้แรงบันดาลใจ
  2. มีประโยชน์ — เช่น ภาพถ่าย, Infrographic หรือ Reference ต่าง ๆ
  3. ประสบการณ์ของเรา — มีแต่เราที่เข้าถึงข้อมูลเหล่านี้ได้ ฉะนั้นจึงควรจดบันทึกไว้ และนำไปแบ่งปันกับผู้อื่นในภายหลัง
  4. น่าประหลาดใจ — หากเป็นข้อมูลที่ทำให้คุณประหลาดใจได้ นั่นหมายความว่ามันเป็นข้อมูลใหม่ ซึ่งควรค่าแก่การจดบันทึกของคุณครับ

O — Organize

หลังจากเก็บแล้ว ต้องนำมาจัดระเบียบด้วย ตรงนี้สำคัญมาก เปรียบเหมือนแกนสมอง มีหลักการ คือ PARA Method เป็นเฟรมเวิร์คใช้จับกลุ่มไอเดียให้เป็นเรื่องๆ

P — Project
โครงการที่ต้องทำให้สำเร็จในระยะสั้น มีจุดเริ่มต้น จุดสิ้นสุด และต้องเกิดผลลัพธ์ที่ชัดเจน เช่น รีโนเวทบ้าน เขียนบทความเรื่องใหม่ หรือ เขียนเว็บไซต์ของตัวเอง

A — Area
สิ่งที่ต้องดูแลในระยะยาว และอาจยังไม่ต้องทำเดี๋ยวนั้นด้วย เช่น

  • Entrepreneurship — ที่ข้างในจะมี โน้ตที่เราจดจากงานสัมมนา, project ธุรกิจที่เราเพิ่งเริ่มทำ หรือโน้ตเกี่ยวกับวิธีจดทะเบียนบริษัท
  • Financial — ที่ข้างในจะมี วิธีอ่านงบการเงิน บัญชีรายรับรายจ่าย วิธีคำนวณภาษี
  • Health & Fitness — ที่ข้างในจะมี โปรแกรมการออกกำลังกาย ปริมาณสารอาหารที่เราต้องได้รับต่อวัน รายการปริมาณโปรตีนของเนื้อสัตว์แต่ละชนิด

R — Resource
สิ่งที่อาจนำมาใช้อ้างอิงในอนาคต อาจยังไม่จำเป็นในวันนี้ จดมาเก็บไว้ก่อน เช่น สูตรข้าวมันไก่ เทคนิคทำคลิป TikTok หรือ วิธีลดหย่อนภาษี

(Area จะเป็นเหมือน superset ของ Project และ Resource)

A — Archive
คลังข้อมูลเก่า โปรเจคที่ทำเสร็จแล้ว หรือถูกพักไว้ เราจะไม่ลบทิ้ง แต่จะเอามาเก็บไว้ในนี้แทน เผื่อในอนาคตต้องใช้ จะได้ยังหาเจออยู่

มี Tools หลายอย่างที่สามารถใช้สร้าง PARA dashboard ซึ่งตรงนี้ เปรียบเสมือนเราสร้างบ้านของตัวเอง ที่เราสามารถออกแบบได้ว่าอยากได้สไตล์ไหน ขึ้นอยู่กับการใช้งานของแต่ละบุคคล

ถ้าใครยังเลือกไม่ถูก ผมอยากแนะนำวิธีทำง่ายๆ ด้วยแอพ Notion ที่ผมเคยไปเจอมา และยังใช้งานต่อเนื่องมาจนถึงปัจจุบัน จากวีดิโอด้านล่างครับ

https://cdn.embedly.com/widgets/media.html?src=https%3A%2F%2Fwww.youtube.com%2Fembed%2FY__243RqBeM%3Fstart%3D8%26feature%3Doembed%26start%3D8&display_name=YouTube&url=https%3A%2F%2Fwww.youtube.com%2Fwatch%3Fv%3DY__243RqBeM&image=https%3A%2F%2Fi.ytimg.com%2Fvi%2FY__243RqBeM%2Fhqdefault.jpg&key=a19fcc184b9711e1b4764040d3dc5c07&type=text%2Fhtml&schema=youtube

แนะนำว่าให้ทำตาม step by step กับวีดิโอไปเลย เพื่อความเข้าใจ ว่ามันทำงานยังไง มีอะไรตรงไหนบ้าง และจะได้ custom ตามสไตล์ตัวเองได้ครับ

D — Distill

กลั่นกรองจนถึงแก่น หาความเชื่อมโยงของข้อมูลแต่ละอย่างที่จดบันทึกไว้ หรือถ้าเอาง่ายๆ คือ เอาโน้ตที่เราจดไว้มาสรุปหาใจความสำคัญนั่นแหละครับ มีแนวทางง่ายๆ คือ

  1. เขียนเพื่อตัวเองในอนาคต — คิดซะว่านี่คือ การส่งข้อมูลข้ามเวลา ไปหาตัวเราในอนาคต ดังนั้นเราต้องทำยังไงก็ได้ ให้หมอนั่นกลับมาอ่านแล้วทำความเข้าใจได้ง่ายขึ้น
  2. Progressive Summarization — บางทีโน้ตมันก็ยาวเกิน จะกลับมาอ่านทีก็ใช้เวลานาน วิธีนี้จึงเป็นตัวช่วยที่ดี ซึ่งก็คือการ summarize เข้าไปหลายๆ ชั้น ตัวอย่างเช่น ขึ้นเส้นใต้ ในดีเทลที่สำคัญ และ ไฮไลท์ ซ้ำเข้าไปอีก ในดีเทลที่สำคัญมาก เพื่อระบุถึงระดับความสำคัญได้ง่ายขึ้น
  3. ทำทีละเล็กน้อยเรื่อยๆ ทุกครั้งที่มีโอกาส — บางทีเราไม่รู้ว่าข้อมูลอันไหนสำคัญ จะมานั่งสรุปทุกอัน ก็คงจะกินเวลาและพลังงานไม่ใช่น้อย จึงมีแนวทางนี้ขึ้นมา วิธีการคือ ปรับปรุงทุกครั้งเวลาที่เข้ามาอ่าน อย่างเช่น จดข้อมูลเสริมเข้าไป เมื่อเปิดเข้ามาดูครั้งแรก ไฮไลท์ส่วนที่สำคัญ เมื่อเปิดเข้ามาดูครั้งถัดไป ด้วยวิธีนี้ โน้ตที่มีความสำคัญ จะถูกสรุปและกลั่นกรองออกมาอย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น

E — Express

คือ การนำสิ่งที่เราได้มาจากขั้นตอนก่อนหน้า มาประยุกต์ใช้เพื่อให้ออกมาเป็นรูปธรรม มีแนวทาง คือ

  1. อย่าเก็บไว้อย่างเดียว เอาออกมาใช้ด้วย! — ความท้าทายของคนที่ชอบเรียนรู้ คือ เติมความรู้เข้าหัวอย่างเดียว แต่ไม่ยอมนำมาใช้ (ตัวผมเองด้วย) ฉะนั้น อย่าทำให้ Second Brain เป็นแค่โกดังเก็บข้อมูล แต่ทำให้มันเป็นโรงงานผลิต productivity ของคุณด้วย
  2. ทำงานแยกเป็นส่วนเล็กๆ — เมื่อนำ Second Brain มาประยุกต์ใช้ คุณจะเริ่มมองการทำงานของคุณแยกเป็นส่วนย่อยๆ เช่น การทำรายการผลการวิจัยที่เกี่ยวข้อง การระดมสมองกับเพื่อนร่วมทีม หรือ list of action ต่างๆ แทนที่จะเป็นการพยายามเข็นงานทั้งหมดให้เสร็จในคราวเดียว
  3. แบ่งปันความรู้ให้ผู้อื่น — หลายคนกลัวว่า ข้อมูลที่เราแบ่งปันจะไม่ดีพอ และเอาแต่ขัดเกลาไปเรื่อยๆ สรุปแล้วสรุปอีก จนไม่ได้ทำอะไรสักที จึงมีส่ิงหนึ่งที่ผมอยากจะบอก คือ “มันไม่มีวันดีพอ” ครับ แม้แต่โน้ตที่เราเคยทำสรุปไว้อย่างดี แต่กลับมาดูอีกรอบ ก็ยังเจอสิ่งที่ต้องแก้อีกเยอะ เพราะฉะนั้นทำมันไปก่อน มันดีขึ้นระหว่างทางได้

(อย่างที่ผมกำลังเขียนบทความนี้อยู่ ผมรู้สึกได้เลยว่าตัวเองรู้เกี่ยวกับ Second Brain แบบผิวเผินมากๆ แต่ผมก็มาหาบทความอื่นๆ มาอ่านอ้างอิง เพื่อยืนยันความเข้าใจของตัวเอง ระหว่างที่กำลังเขียนนี่แหละครับ)

ใช้แล้วเป็นยังไง?

Productivity ผมพุ่งติดจรวดเลยครับ พอทุกอย่างเห็นเป็นภาพชัดเจนขึ้น และเราไม่ต้องห่วงหน้าพะวงหลังเรื่องจะจำอันนู้นอันนี้ไม่ได้ มันทำให้ใช้สมองได้เต็มที่มากขึ้น คิดไอเดียได้ดีขึ้น

ในช่วงปรับตัวแรกๆ อาจจะยังไม่ค่อยชิน เพราะจะต้องปรับนิสัยตัวเอง ให้คอยเปิดเช็คเจ้า Second Brain ตลอดเวลา พอนานๆ เข้า เริ่มชินแล้ว อะไรๆ ก็ง่ายขึ้นเยอะครับ

ผมสามารถเขียนบทความนี้เสร็จได้ภายในไม่กี่ชั่วโมง เพราะผมจดข้อมูลเหล่านี้ทั้งหมดไว้ใน Second Brain ไว้หมดแล้วครับ ที่มาทำ มีแค่ copy and paste แล้วปรับคำให้อ่านง่ายขึ้นเท่านั้นเอง

ผมเคยได้ยินเรื่องของ Second Brain นี้เมื่อหลายเดือนก่อนแล้ว จากพี่ชายผม Jatawatsafe แต่เพิ่งจะมีโอกาสได้มาศึกษาจริงจังและเอามาปรับใช้กับตัวเอง แล้วเห็นผลลัพธ์ชัดเจน จนบอกกับตัวเองว่า ทำไมไม่ไปลองหาอ่านตั้งแต่ตอนได้ยินแรกๆ นะ

อยากให้ทุกคนที่อ่านมาถึงตรงนี้ ลองไปศึกษาและเริ่มนำ Second Brain ไปประยุกต์ใช้กับตัวเองอย่างจริงจังครับ เริ่มจากสร้าง PARA Dashboard ก็ได้ ใช้เวลาไม่นานครับ ไม่อยากให้อ่านจบแล้ว เก็บไว้ในความทรงจำชั่วคราว แล้วปล่อยให้สูญสลายไปตามกาลเวลาแบบผม

แล้วคุณจะเป็นคนที่ขยันจดขึ้นเยอะสุดๆ จนไม่ทันสังเกตเลยครับ

ข้างล่างจะเป็นแหล่งอ้างอิง ที่ผมใช้ในการนำมาเขียนบทความครั้งนี้ สำหรับผู้อ่านที่สนใจศึกษาเพิ่มเติมครับ

https://fortelabs.com/blog/basboverview/?source=post_page—–385b99c04c05——————————–

https://www.youtube.com/watch?v=Adg25M2wbOg
https://www.youtube.com/watch?v=K-ssUVyfn5g

Share the Post:

Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *

Continue Reading

คนที่คุยเก่ง อาจไม่ต้องพูดเก่งเสมอไป

เทคนิคในการพูดคุยที่น่าสนใจ จากหนังสือ 9 ใน 10 ของ ชีวิต พิชิตด้วยการพูด

The Pomodoro Technique

เคลียร์งานไว ใน 25 นาที

สมการ Value

คำว่า value ที่เราได้ยินกัน มันประกอบด้วยอะไรบ้าง

Lower Your Time Preference

ลงทุนแรงและเวลาในวันนี้ เพื่อสิ่งที่ดีกว่าในอนาคต