Lower Your Time Preference

ลงทุนแรงและเวลาในวันนี้ เพื่อสิ่งที่ดีกว่าในอนาคต

Time preference หรือ ความโหยหาผลตอบแทนระยะสั้น คืออัตราส่วนของ การให้ความสำคัญกับผลตอบแทนที่อยู่ตรงหน้า กับ การอดทนรอรับผลตอบแทนในอนาคต

โดยปกติค่านี้ของคนเราจะเป็นบวกเสมอ เพราะในทางธรรมชาติแล้ว เราจะให้คุณค่ากับปัจจุบันมากกว่าอนาคต

สมมติว่าเราหิว แล้วเลือกกินข้าวได้ 1 จาน แต่มีตัวเลือกคือ จะกินตอนนี้ หรือจะรอ 2 วันค่อยกิน แต่ก็ได้ข้าว 1 จานเท่ากันนะ

ถ้าถามใคร ก็เลือกกินวันนี้ เป็นผมก็เลือก ก็ตอนนี้หิวอะ รอไปก็ได้เท่าเดิม

แล้วก็ไม่มีใครอยากเสี่ยงปล่อยท้องหิว เพราะถ้าเราม่องเท่งไปซะก่อน จะได้ข้าวกี่จานก็ไม่มีความหมายแล้ว เพราะเรามีชีวิตอยู่ไม่ถึง

ถึงแม้จะเป็นบวกเสมอ แต่ค่านี้ของแต่ละคนก็จะมีไม่เท่ากัน และเมื่อเราเห็นว่าผลตอบแทนในอนาคตมีความคุ้มค่า การตัดสินใจของเราก็อาจจะเปลี่ยนไป ซึ่งความคุ้มค่านี้ที่แต่ละคนมองเห็น ก็จะขึ้นอยู่กับ time preference ของแต่ละคน

สถานการณ์เดิมเลย แต่คราวนี้เพิ่มรางวัลเป็น ถ้าทนรออีก 2 วันได้ จะได้ข้าวเพิ่มเป็น 3 จาน แถมไข่ดาวด้วย คราวนี้ก็อาจจะมีคนเปลี่ยนใจไปอดทนรอ เพื่อแลกกับรางวัลที่มากขึ้น คุ้มค่ามากขึ้น แต่ก็ยังมีบางคน ที่ซื้อมากินวันนี้เหมือนเดิม เพราะมองว่ากินวันนี้มันคุ้มกว่า

ตามสำนวนไทย มันคือ “อดเปรี้ยวไว้กินหวาน” หรือ “ลำบากวันนี้ สบายวันหน้า” นั่นแหละครับ

Time preference ของสัตว์นั้น มีสูงกว่ามนุษย์มาก เพราะพวกมันทำทุกอย่างตามสัญชาตญาณ ณ ตอนนั้น ซึ่งสิ่งนี้ทำให้มนุษย์เราสามารถควบคุมสัญชาตญาณ และความชั่ววูบยิ่งสัตว์ป่าได้ โดยคิดได้ว่า อะไรดีสำหรับอนาคตของเรา และสามารถทำตามหลักเหตุและผลได้

มาร์ชเมลโล่

การทดลองของคุณ Walter Mischel ที่ปล่อยให้เด็กอยู่ในห้องเพียงลำพังกับมาร์ชเมลโล่ โดยบอกกับเด็กไว้ว่า สามารถหยิบมากินได้เลยถ้าต้องการ เดี๋ยวพวกเขาจะกลับมาใหม่ใน 15 นาที ถ้ายังไม่กินขนมที่วางไว้ จะแถมขนมให้อีกชิ้นหนึ่ง

สิ่งนี้เป็นวิธีง่าย ๆ ในการวัด time preference ของเด็ก ๆ

โดยเด็กที่มีค่านี้ที่ต่ำกว่า จะอดทนรอเพื่อให้ได้ขนมเพิ่มขึ้นอีกชิ้นได้ ส่วนเด็กที่มีค่านี้ที่สูงกว่า จะทนไม่ไหว และที่หยิบขนมไปกิน

หลังจากนั้น คุณ Mischel ก็ได้ติดตามชีวิตเด็ก ๆ เหล่านั้นไปอีกหลายสิบปี และพบว่า เด็กที่อดทนไม่กินมาร์ชเมลโล่ จะมีคุณภาพชีวิตที่ดีกว่าอย่างเห็นได้ชัด เช่น ประสบความสำเร็จทางการศึกษา มีสุขภาพร่างกายแข็งแรง หรือไม่ติดสารเสพติด

ซึ่งการยับยั้งชั่งใจในปัจจุบัน อดทนไม่กินมาร์ชเมลโล่ในตอนนี้ เพื่อให้ได้รับรางวัลตอบแทนเป็นมาร์ชเมลโล่อีกชิ้น สิ่งนี้ คือการแลกเปลี่ยนกับตัวเองในอนาคต

แลกเปลี่ยนกับตัวเอง

ในทุก ๆ การตัดสินใจ หมายถึงการที่เรากำลังแลกเปลี่ยนกับตัวเองในอนาคตตลอดเวลา โดยที่เราอาจไม่รู้ตัว เช่น

  • การเก็บเงินไว้ แทนที่จะใช้มัน ยอมไม่ได้ใช้จ่ายในสิ่งที่ต้องการ ณ ตอนนี้ เพื่อสะสมกำลังทุน สำหรับอำนาจการจับจ่ายใช้สอยในอนาคตที่มากขึ้น
  • การอดทนใช้เวลาฝึกฝนทักษะ ลงทุนทางเวลาและกำลังในปัจจุบัน เพื่อความสามารถในการสร้างงานที่มีผลตอบแทนสูงขึ้น แทนที่จะทุ่มเวลาไปกับการทำงานตามความสามารถเท่าที่มี ซึ่งได้ผลตอบแทนต่ำกว่า
  • หรือการที่เด็กเลือกไม่กินมาร์ชเมลโล่ ก็คือการแลกเปลี่ยนความสุขในปัจจุบัน กับความสุขที่มากขึ้นในอนาคต จากการได้กินมาร์ชเมลโล่ 2 ชิ้น

โดยทั้งหมด ผู้ที่ได้รับหรือเสียประโยชน์ ก็มีแต่ตัวเราที่เป็นผู้ตัดสินใจเท่านั้น ผู้ที่มีความยับยั้งชั่งใจต่อสิ่งเร้ามากกว่า จะสามารถให้ความสำคัญกับตัวเองในอนาคตได้มากกว่า

มองการณ์ไกล

สิ่งที่ยังไม่ได้เอ่ยถึง คือเรื่องของความเสี่ยง เช่น ความเสี่ยงในการอดข้าวจนม่องเท่งอย่างที่กล่าวไปข้างต้น ซึ่งมันเป็นปัจจัยหนึ่งในตาชั่งของการตัดสินใจของเรา ว่าผลตอบแทนที่มากขึ้นนั้น มันจะคุ้มค่าหรือไม่

ทำให้เราจะมองแค่ระยะเวลา กับผลตอบแทนไม่ได้แล้ว เพราะมันมีความเสี่ยงที่เราจะลงทุนแรงกับเวลาไป แล้วไม่ได้ผลตอบแทนได้อย่างที่คาดหวังไว้ด้วย

ถ้าเราเป็นเด็ก ที่ตัดสินใจไม่กินมาร์ชเมลโล่ เพื่อรอชิ้นที่สอง แต่คนที่บอกว่าจะให้เขาโกหกล่ะ?

ถ้าเราฝึกฝนทักษะนั้นมาแล้ว แต่ทักษะนั้นกำลังไม่เป็นที่ต้องการ ทำให้เราได้ผลตอบแทนที่น้อยกว่าที่คาดหวังล่ะ?

ถ้าเราเก็บเงินไว้ แทนที่จะใช้ เพื่อจะอำนาจในการจับจ่ายใช้สอยที่มากขึ้นในอนาคต แล้วเงินมันเฟ้อ ทำให้ของแพงขึ้น แล้วอำนาจจับจ่ายของเราที่ควรจะเพิ่มขึ้น มันโดนลดลงมา จนใช้จ่ายได้เท่ากับตอนแรก หรืออาจจะน้อยลงด้วยซ้ำล่ะ?

ไม่ใช่ว่าการเลือกก้มหน้าก้มตาทำสิ่งที่ใช้เวลานานอย่างเดียว จะได้ผลลัพธ์ที่ดีเสมอไป

ทำให้เราต้องมองการณ์ไกลให้เป็นด้วย และเลือกตัดสินใจทำในสิ่งที่ผ่านการไตร่ตรองแล้ว ว่ามันมีความเป็นไปได้มากพอ ที่เราจะยอมรับได้ ในการได้รับผลตอบแทนจากการทำสิ่งนี้

สิ่งนี้มีผลกระทบอย่างมาก ในมุมเศรษกิจและสังคม แต่ผมขอมาเล่าในระดับบุคคลก่อน เพราะเดี๋ยวมันจะยาว(มาก)

ถ้าอยากอ่านแบบจุใจ สามารถอ่านต่อได้ใน The Bitcoin Standard มีพูดถึงเรื่องนี้เต็ม ๆ เลยหนึ่งบทครับ

ทั้งหมดที่เล่ามา ไม่ได้หมายความว่า การมีค่าค่านี้สูง เป็นเรื่องผิด หรือต่ำเป็นเรื่องถูก เพราะสุดท้ายมันก็คือค่าความ preference

เพียงแค่ชี้ให้เห็นว่า ถ้าเราสามารถควบคุมสิ่งนี้ให้มีระดับที่ต่ำ จะทำให้เราคิดถึงอนาคตของตัวเองได้ดีมากขึ้น ตัดสินใจทำสิ่งต่าง ๆ ได้ดีขึ้นเท่านั้นเอง

ชีวิตยังอีกยืนยาว แลกเปลี่ยนสิ่งที่ดีสำหรับตัวเองในอนาคต เอาไว้ให้เยอะ ๆ นะครับ

Life is a marathon, not a sprint

Share the Post:

Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *

Continue Reading

คนที่คุยเก่ง อาจไม่ต้องพูดเก่งเสมอไป

เทคนิคในการพูดคุยที่น่าสนใจ จากหนังสือ 9 ใน 10 ของ ชีวิต พิชิตด้วยการพูด

The Pomodoro Technique

เคลียร์งานไว ใน 25 นาที

สมการ Value

คำว่า value ที่เราได้ยินกัน มันประกอบด้วยอะไรบ้าง
Pointers in simple cover

อธิบาย Pointers ภาษาคนธรรมดา

อ่านแล้วไม่ตาลอย หวังว่านะ